หากโหลดเวบไม่ขึ้นให้ท่านลง java runtime environment (jre6)
เราทำงาน โดยไม่มีอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานมาแล้ว :
นับจาก อุบัติเหตุครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 : เป้าหมาย ไม่เกิดอุบัติเหตุ: สถิติสูงสุด - วัน

การทำงานกะ (Shift Work)


 การทำงานกะ (Shift Work)
กรรณิการ์ คำสีแก้ว
Kannika.ka 
@npc-se.co.th 
ที่ปรึกษาอาชีวอนามัย และความปลอดภัย บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด

    สวัสดีค่ะ จากที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ในการทำงานมานาน ได้มีโอกาสคลุกคลีกับพนักงานที่จะต้องเข้าทำงานกะ ก็พบว่าผู้ที่ทำงานกะมีปัญหาด้านสุขภาพกันเยอะ และพบว่าตอนเข้ากะวันแรกเหนื่อยมากๆ เพราะต้องมีการปรับตัวก่อน รวมทั้งที่ผู้เขียนได้ไปเป็นวิทยากรสอนหนังสือมาหลายครั้งๆก็พบว่าผู้เรียนมีความสนใจในปัญหาสุขภาพจากการทำงานกะกลางคืนกันเยอะ ก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อจะได้รายละเอียดว่า จริงๆ แล้วการทำงานกะ นี้ มันมีผลกระทบอะไรกับคนที่ทำงานบ้าง ซึ่งเราจะเห็นว่าในหลายๆ อาชีพในปัจจุบันมีคนที่ทำงานเป็นกะ โดยเฉพาะกะกลางคืนกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานในภาคอุตสาหกรรมก็จะเป็นพนักงานในหน่วยการผลิต ตรวจสอบคุณ ภาพผลิตภัณฑ์ และแผนกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาคบริการอย่างแพทย์ พยาบาล ตำรวจ รปภ. นักจัดรายการวิทยุ ผู้สื่อข่าวและอื่นๆ
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
    ซึ่งปัญหาจากการทำงานเป็นกะ ทำให้เกิดโรคเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน (work related disease) เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบจากรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ซึ่งการทำงานเป็นกะในช่วงกลางคืนจะทำให้เวลานอนของผู้ประกอบอาชีพเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพตามมาหลายอย่าง เช่น อ่อนเพลียเรื้อรัง, น้ำหนักขึ้น, นอนไม่หลับ ไม่นับรวมโรคมะเร็ง ทั้งนี้เนื่องจากมันเข้าไปขัดจังหวะการทำงานของนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย และฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งผลิตในเวลากลางคืนมีคุณสมบัติกดการเติบโตของก้อนเนื้อ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการทำงานเป็นกะ อุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการทำงานเป็นกะ ก็มีมากขึ้นเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานเมื่อยล้า ช่วงเวลาการนอนไม่ปกติ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานฝืนที่จะทำงาน ขณะที่มีการทำงานกับอุปกรณ์เครื่องจักรก็มีความเสี่ยง ซึ่งมีบางครั้งต้องควงกะ หรือทำงานกะต่อเนื่องกันหลายวันยิ่งทำให้ผู้ปฏิบัติงานเมื่อยล้ามากขึ้น ผู้เขียนเห็นว่าการทำงานกะ ในปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น และมีอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการทำงานเป็นกะ มีเป็นจำนวนมาก รวมทั้งโรคเกี่ยวเนื่องจากการทำงานที่เพื่อนๆ ที่ทำงานกะเป็นกัน เลยอยากเขียนเรื่องการทำงานกะคะ เรามาดูกันนะคะว่า ผลกระทบจากการทำงานกะมีปัญหาด้านสุขภาพอะไรบ้าง รวมทั้งวิธีการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ทำงานกะคะ

เหตุผลของการทำงานเป็นกะ (Shift Work)
  1. เหตุผลทางเทคโนโลยี ระบบการผลิตที่ต้องทำเวลายาวนานต่อเนื่อง
  2. เหตุผลทางเศรษฐกิจ ต้นทุนเครื่องจักร และความต้องการตลาดสูง
  3. เหตุผลทางสังคมผู้ให้บริการทางการแพทย์ ตำรวจ ไฟฟ้า ประปา ซึ่งเป็นผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม






ผลตอบสนองต่อการทำงานเป็นกะ
    - ความเครียด
    - ผลต่อระบบ neurophysiological rhythms เช่น อุณหภูมิของร่างกาย อัตราการเผาผลาญอาหาร ระดับน้ำตาลในกระแสเลือด
    - ประสิทธิภาพของจิตใจ
    - แรงจูงใจในการทำงาน
    - เกิดความแปรปรวนใน circadian rhythm เนื่องจากพนักงานต้องทำงานในขณะที่ร่างกายและจิตใจอยู่ในช่วงการนอนหลับ ทำให้วงจรการหลับตื่นไม่สอดคล้องกับวงจรอื่น ๆ ของร่างกาย(อุณหภูมิ,ฮอร์โมน) เกิดวงจรชีวภาพที่เรียกว่า desyn-chronization

ผลกระทบต่อการทำงานเป็นกะ
    โดยเฉพาะกะกลางคืน ร่วมกับความไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตปกติจึงส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน,ความปลอดภัยในการทำงาน,สุขภาพของพนักงาน รวมถึงการใช้ชีวิตครอบครัวและสังคมของพนักงานที่ทำงานเป็นกะ

    - ผลต่อการนอน นอนไม่หลับ หลับยาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการนอน มักแก้ปัญหาด้วยยานอนหลับ เวลามาทำงานก็มักกระตุ้นด้วยกาแฟ เสพยาบ้า เป็นต้น
    - ผลต่อความอยากอาหาร เบื่ออาหาร ท้องอืดหรือท้องผูก มักรับประทานแป้งน้ำตาลมาก ใยอาหารน้อย
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

โรคแทรกซ้อนจากการทำงานเป็นกะ
    - Work shift sleep disorder
    - ระบบหัวใจและหลอดเลือด พฤติกรรมการบริโภคไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังการ ความเครียด จึงมักทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง
    - โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นผลจากการบริโภคอาหารไม่เป็นเวลา
    - Substance Dependence


แนวทางการจัดการในองค์กร

  1. การคัดเลือกพนักงาน
    ควรเลือก พนักงานที่มีความยืดหยุ่นเรื่องการนอนหลับ สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวที่ถูกกระตุ้นให้กำเริบด้วยการอดนอน
    พนักงานที่ไม่ควรทำงานในระบบกะ ได้แก่บุคคลที่มีประวัติโรคทางเดินอาหาร โรคเบาหวาน โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ โรคลมชัก โรคซึมเศร้า โรคหัวใจ วัณโรค ติดสุรายาเสพติด

  1. การตรวจสุขภาพพนักงานสม่ำเสมอ
  2. การป้องกันสุขภาพ
  3. การเพิ่มวันหยุดให้พนักงาน เพื่อให้พนักงานมีวันปรกติเพิ่มขึ้น ที่จะให้ circadian rhythm เริ่มใหม่
  4. การจัดอาหารมื้อดึกที่มีคุณภาพทางอาหาร
  5. การอนุญาตให้นอนได้ระหว่างทำงานกะกลางคืน เพื่อป้องกันความอ่อนเพลีย และประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัย
  6. การลดการทำงานกะกลางคืนที่ไม่จำเป็นลง
  7. การจัดตารางของระบบการทำงานเป็นกะที่เหมาะสม
    - ระบบการทำงานเป็นกะควรให้ทำงานกะกลางคืนติดกันน้อยที่สุด
    - กะเช้าไม่ควรเริ่มทำงานเช้าเกินไป
    - เวลาในการเปลี่ยนกะควรให้ความยืดหยุ่นพนักงาน
    - ระยะเวลาของกะควรขึ้นกับเนื้อหาของงาน และกะกลางคืนควรมีระยะเวลาสั้นกว่ากะอื่น
    - การทำงานเป็นกะที่ต่อเนื่องควรมีวันหยุดอย่างน้อยต่อเนื่อง 2วัน ในบางสัปดาห์
    - ให้หมุนกะไปข้างหน้าจะดีกว่า
    - ช่วงเวลาวงจรของกะ ไม่ควรยาวนานเกินไป
    - การหมุนเวียนกะควรสม่ำเสมอ


ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
    มาถึงตรงนี้ผู้เขียนคาดว่าท่านผู้อ่านน่าจะได้เรียนรู้ถึงหลักเกณฑ์คร่าวๆ ของการทำงานเป็นกะ (Shift Work) กันพอสมควรนะคะ สำหรับเพื่อนๆๆ พี่ๆ ที่ต้องรับผิดชอบในการทำงานเป็นกะ ก็อย่าลืมรักษาสุขภาพของตัวเองนะคะ พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าต้องนอนกลางวันเพื่อต้องต่อกะในช่วงกลางคืนก็อย่าลืมหาผ้าม่านที่ทึบๆ ห้องเงียบๆ เราจะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่วนการรับประทานอาหารในช่วงดึกก็ต้องเป็นอาหารที่ไม่รสจัดจนเกินไป เพื่อป้องกันโรคกระเพาะอาหาร แล้วพบกันฉบับหน้านะคะ สวัสดีคะ